; วันมะเร็งโลก (World Cancer Day) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

วันมะเร็งโลก (World Cancer Day)

       การรณรงค์เนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์  ในหัวข้อ “Close the care gap” เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเท่าเทียม  สาเหตุการเกิดมะเร็งมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร มลภาวะ รวมถึงการกลายพันธ์ุของยีน 

        ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีตัวเลือกนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งหลากหลายกว่าในอดีต โดยการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดียิ่งขึ้น ลดผลกระทบด้านจิตใจและด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังการผลิตของประเทศไทยลงได้

7 สัญญาณอันตรายที่ควรรีบพบแพทย์

        1. อุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนแปลง เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย หรืออุจจาระเป็นเลือด อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะเป็นเลือดอาจสงสัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
        2. กลืนอาหารลำบากหรือมีอาการเสียดแน่นท้องเป็นเวลานาน อาเจียน อาจสงสัยมะเร็งหลอดอาหารหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร
        3. ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดเสียงแหบอาจสงสัยมะเร็งปอด
        4. มีเลือดออกผิดปกติจากอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ จมูก เต้านม ช่องคลอด ทวารหนัก
        5. เป็นแผล รักษาแล้วไม่หายแต่เรื้อรังในช่องปากนานกว่า 2 สัปดาห์อาจสงสัยมะเร็งช่องปาก แผลเรื้อรังบริเวณผิวหนังอาจสงสัยมะเร็งผิวหนัง
        6. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย เช่น ขนาด สี ขอบเขตไม่ชัดเจน เป็นต้น
        7. มีก้อนตุ่มตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดก้อนบริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอเรื้อรังอาจสงสัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดก้อนที่เต้านมอาจสงสัยมะเร็งเต้านม

การตรวจคัดกรองมะเร็ง

        ควรตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้แก่มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งปอด โดยมีคำแนะนำในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามความเสี่ยงของแต่ละช่วงอายุดังนี้

        1. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
           
           - ผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมตัวเองช่วงหลังหมดประจำเดือนทุกเดือนและพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก 1-3 ปี
           - ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจ mammogram และอัลตร้าซาวนด์ทุกปี
           - ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไปควรตรวจ mammogram และอัลตร้าซาวด์ทุก 1-2 ปี

        2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

           - ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี ตรวจหาเชื้อ hpv และหรือตรวจ Pap Smear ร่วมด้วย
           - ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีตรวจหาเชื้อ HpV และหรือตรวจ Pap Smear ร่วมด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Hpv
           - ผู้หญิงอายุ 9 - 15 ปีฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส Hpv 2 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน
           - ผู้หญิงอายุ 16 - 45 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส hpv 3 เข็มเดือนที่ 0 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 6
           - ผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อทราบประสิทธิภาพของวัคซีนก่อนตัดสินใจฉีด

        3. การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ผู้หญิงและผู้ชาย

            อายุ 50 - 75 ปีควรเลือกตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนี้
       
           - การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดทุก 10 ปี
           - การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก ทุก 5 ปี
           - การตรวจอุจจาระ ร่วมกับการส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายและทวารหนักทุก 5 ปี
           - การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT colonography) ทุก 5 ปี

           ผู้มีอายุ 76 ปีขึ้นไปแนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อทราบข้อดีข้อเสียของการตรวจคัดกรองก่อนการตัดสินใจ

        4. การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

           ผู้ที่มีอายุช่วง 55 - 74 ปี มีประวัติสูบบุหรี่จัดตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปและยังคงสูบอยู่หรือหยุดสูบไม่เกิน 15 ปีหลังเลิกบุหรี่ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด โดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำกว่าปกติ (Low dose CT ) ทุกปี

        5. การตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

           ด้วยการเจาะเลือด และหากผลเลือดผิดปกติ อาจวินิจฉัยเพิ่มด้วยวิธีอัลตร้าซาวนด์ หรือ MRI

        6. การตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ

           ด้วยการเจาะเลือด และอัลตร้าซาวนด์

        7. การตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

           ด้วยวิธีส่องกล้องทางเดินอาหาร Esophagogastroduodenoscopy (EGD) ในกลุ่มความเสี่ยง

การรักษา การติดตามผล และการดูแลผู้ป่วย

        การตรวจคัดกรองมะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์ เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้น การรักษาได้ผลดีมาก และเป็นการป้องกันมิให้ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะลุกลาม สามารถวางแผนการรักษาแบบองค์รวมโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ อาทิ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์ และเภสัชกร ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการติดตามผลการรักษาเพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ ตลอดจนการดูแลแบบประคับประคอง โดยทีมอายุรแพทย์โรคมะเร็ง คลินิกสุขภาพใจ และพยาบาลวิชาชีพ เพื่อมุ่งเน้นการบรรเทาความเจ็บปวด ปรับปรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการดูแลรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคเองและ/หรือ อาการข้างเคียงอื่น ๆ จากการรักษาโรค